เสวนานักเขียนญี่ปุ่น – ไทย “ภาพสะท้อนสังคมในงานวรรณกรรม”

เสวนานักเขียนญี่ปุ่น – ไทย
“ภาพสะท้อนสังคมในงานวรรณกรรม”

สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 51 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 21


รายละเอียดกิจกรรมเสวนา

เรื่อง“ภาพสะท้อนสังคมในงานวรรณกรรม”
วัน-เวลาวันเสาร์ที่ 1 เมษายน 2566 เวลา 14:00-16:00 น. (ประตูเปิด 13:30 น.)
สถานที่ห้องประชุม 205 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ผู้ร่วมเสวนามัทสึดะ อาโอโกะ นักเขียนหญิงและนักแปลชื่อดังชาวญี่ปุ่น เจ้าของผลงาน “ไม่เชื่องแล้วไปไหน”
วีรพร นิติประภา  นักเขียนชื่อดังชาวไทยที่ได้รับรางวัลซีไซต์สองปีซ้อน (พ.ศ. 2558 และ 2561)
จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท  นักเขียนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับรางวัลซีไรต์เมื่อปีพ.ศ. 2560
ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์  นักเขียนชื่อดังเจ้าของผลงานแนว Boys’ Love และสืบสวนสอบสวน
ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล (อาจารย์ ล่ามและผู้ดำเนินรายการ)
โช ฟุกุโตมิ  (ล่าม นักแปลและผู้เชี่ยวชาญงานวรรณกรรมไทย)
ภาษาดำเนินรายการเป็นภาษาไทยและญี่ปุ่น
ค่าลงทะเบียนฟรี
การลงทะเบียนสามารถลงทะเบียนได้ที่ลิงก์นี้ https://cutt.ly/U8SlyLi (จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วม 100 คน)

เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย สำนักพิมพ์อีกา และร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ (ประเทศไทย) โดยการสนับสนุนจาก สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และสมาคมญี่ปุ่นในประเทศไทย รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะขอเชิญนักอ่านและผู้สนใจชาวไทยทุกท่าน เข้าร่วมงานเสวนานักเขียนญี่ปุ่น – ไทย ภายใต้หัวข้อ “ภาพสะท้อนสังคมในงานวรรณกรรม” ในวันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2566 เวลา 14:00 – 16:00 น. ณ ห้องประชุม 205 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักอ่านชาวไทยทุกท่านได้ทำความรู้จักกับนักเขียนและนักแปลหญิงญี่ปุ่นที่กำลังมีชื่อเสียง “คุณมัทสึดะ อาโอโกะ” ผู้ซึ่งเปิดตัวหนังสือเรื่อง ‘Stackable’ ในปี 2013 และได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย จนกระทั่งในปี 2021 หนังสือรวมเรื่องสั้น “おばちゃんたちのいるところ (Obachan-tachi no iru tokoro) ที่นำเอาตำนานและเรื่องเล่าต่างๆของญี่ปุ่นในอดีต มาประพันธ์ใหม่ในมุมมองที่สะท้อนความเท่าเทียมทางเพศและสตรีนิยมในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ ‘Where the Wild Ladies Are” และเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านมาแล้วทั่วโลก จนในปี 2022  ผลงานรวมเรื่องสั้นนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยภายใต้ชื่อ “ไม่เชื่องแล้วไปไหน” โดยสำนักพิมพ์อีกา การเสวนาในครั้งนี้ คุณมัทสึดะ จะร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะและมุมมองกับนักเขียนชาวไทยที่มีชื่อเสียงหลายท่าน คือ คุณวีรพร นิติประภา  นักเขียนชื่อดังชาวไทยที่ได้รับรางวัลซีไซต์สองปีซ้อน (พ.ศ. 2558 และ 2561) และสองนักเขียนรุ่นใหม่ชาวไทย คุณจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท  และ คุณชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ ผู้ซึ่งได้เคยเป็นตัวแทนนักเขียนจากประเทศไทยเข้าร่วมโครงการวรรณกรรมเอเชีย “YOMU” ของเจแปนฟาวน์เดชั่น   ต่อประเด็นปัญหาทางสังคมต่างๆที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ที่สะท้อนออกมาในนวนิยายและเรื่องสั้นของนักเขียนเหล่านั้น

ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักอ่านชาวไทยที่จะได้รับฟังเรื่องราวหลากหลายแง่มุมใหม่ๆ ที่อาจจะไม่เคยได้รับรู้จากที่ไหนมาก่อนโดยนักเขียนญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้ร่วมเสวนาชาวไทยผู้คร่ำหวอดในวงการหนังสือและงานวรรณกรรมมาอย่างยาวนาน หากนักอ่านท่านใดสนใจต้องการเข้ามาร่วมงานในห้องประชุม 205 ชั้น 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สามารถลงทะเบียนได้ที่ลิงก์นี้ https://cutt.ly/U8SlyLi โดยที่นั่งมีจำนวนจำกัดไม่เกิน 100 คน

เกี่ยวกับนักเขียน

มัตสึดะ อาโอโกะ
เป็นนักเขียนและนักแปล ในปี 2013 หนังสือเปิดตัวเรื่อง ‘Stackable’ ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Mishima Yukio Prize และรางวัล Noma Literary New Face Prize ในปี 2019 เรื่องสั้น ‘The Woman Dies’ ได้รับการคัดเลือกให้เข้าชิงรางวัล Shirley Jackson Award ในปี 2021 หนังสือรวมเรื่องสั้น ‘Where the Wild Ladies Are (ไม่เชื่องแล้วไปไหน)’ ได้รับการชื่นชมอย่างมากจากสื่อต่างๆ ทั่วโลกทั้ง BBC, the Guardian, NY Times และ New Yorkers รวมทั้งยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ผลงานนิยายและเรื่องสั้นที่ดีที่สุดในปี 2020 โดยนิตยสาร TIME อีกด้วย  นอกจากนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Ray Bradbury Prize ซึ่งเป็นรางวัลที่สนับสนุนโดย LA Times และเธอก็คว้ารางวัล The Firecracker Award ในหมวดเรื่องบันเทิงคดี และรางวัลผลงานรวมเรื่องสั้นดีเด่นจาก World Fantasy Award ในปี 2021

©Yuri Manabe

ผู้ร่วมเสวนา

วีรพร นิติประภา
เป็นนักประพันธ์หญิงไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลซีไรต์ถึง 2 ครั้ง (พ.ศ. 2558 และ 2561) วีรพรมีความโดดเด่นในเรื่องการสร้างตัวละครที่ดูเรียบง่ายแต่ซับซ้อน ภาษาที่สละสวยและเป็นเอกลักษณ์  และเนื้อหาที่สะท้อนการเมืองและสังคมยุคปัจจุบัน ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เธอคือ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” และ “พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจําของแมวกุหลาบดํา” ซึ่งทั้งสองเรื่องได้รับรางวัลซีไรต์

จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท (ลี้)
เป็นนักเขียนหญิงชาวไทยผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ใน พ.ศ. 2560 จากผลงานรวมเรื่องสั้น “สิงโตนอกคอก” และเป็นผู้ได้รับรางวัลซีไรต์ชาวไทยที่อายุน้อยที่สุด โดยในขณะที่เธอได้รับรางวัลนั้น เธอมีอายุเพียง 25 ปี และเป็นนักเขียนหญิงคนที่ 2 ในรอบ 10 ปีที่ได้รับรางวัลนี้  จิดานันท์เขียนหนังสือมาแล้วกว่า 20 เรื่องทั้งแนววรรณกรรมเยาวชน แนวชายรักชาย และแนวไซไฟ  เรื่องสั้น “The Raven Arrives” และ “The Girl Who Was Raped Through Her Ear Holes” แปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ใน “The Bangkok Literary Review 01”  ส่วนนิยาย “เฟื่องนคร” ของสำนักพิมพ์ EverY รอทำซีรีส์ รวมถึงรอแปลภาษาจีนไต้หวันและอังกฤษ  ส่วนเวอร์ชั่นนิยายของหนังเรื่อง “ฉลาดเกมส์โกง” ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์แจ่มใส และแปลเป็นภาษาเวียดนามและจีนไต้หวัน เช่นกัน

ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ (ปราปต์)
เป็นนักเขียนชาวไทย ใช้นามปากกาว่า “ปราปต์” มีผลงานด้านการเขียนนวนิยาย เช่น “กาหลมหรทึก” ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2557 และยังได้นำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางช่องวัน (2561) รวมทั้งยังมีงานเขียนเรื่องแนวอื่นๆ สลับกันไป อาทิ แนวดิสโทเปียเรื่อง “สุสานสยาม” ซึ่งชนะรางวัลดีเด่นการประกวดหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2564 ตลอดจนผลงานประพันธ์เรื่อง “นิราศมหรรณพ”  ได้เข้ารอบเข้ารอบลองลิสต์การประกวดรางวัลซีไรต์ ปี 2558 นอกจากงานสืบสวน ปราปต์ ยังมีงานแนวโรแมนติกคอมิดี้เรื่อง “My Precious Bad Luck ดวงแบบนี้ไม่มีจู๋” ซึ่งชนะรางวัลพลอตเด่นเป็นละครของช่อง 3 ปี 2559 และได้รับการดัดแปลงเป็นละครทางช่องสาม (2563) “คุณหมีปาฏิหาริย์” นวนิยายแนว Boys’ Love เรื่องแรกของปราปต์ ก็ได้รับการสร้างเพื่อเผยแพร่ทางช่องสาม (2565) และยังได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ ได้แก่ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไต้หวัน และภาษาพม่า

ล่ามและผู้ดำเนินรายการ

โช ฟุกุโตมิ
(ล่าม นักแปลและผู้เชี่ยวชาญงานวรรณกรรมไทย)
เกิดปีพ.ศ. 2529 ณ กรุงโตเกียว เป็นนักแปลและล่ามภาษาไทย-ญี่ปุ่น แปลผลงานวรรณกรรมไทยเป็นภาษาญี่ปุ่นมาหลายเรื่อง อย่าง “ร่างของปรารถนา” (อุทิศ เหมะมูล) ฯลฯ

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล
(อาจารย์ ล่ามและผู้ดำเนินรายการ)
ฐิติรัตน์เป็นอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายระหว่างประเทศ รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากฎหมายญี่ปุ่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเกียวโต นิติศาสตร์มหาบัณฑิตด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโกเบ และด้านกฎหมายกับการพัฒนาจากมหาวิทยาลัย SOAS ปัจจุบันศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตลาด เทคโนโลยี และสิทธิมนุษยชน เคยเป็นบรรณาธิการวรรณกรรมแปลจากภาษาญี่ปุ่น และแปลหนังสือกฎหมายจากภาษาอังกฤษ

“โครงการวรรณกรรมเอเชีย (YOMU)”

“YOMU” เป็นโครงการเผยแพร่ผลงานวรรณกรรมของนักเขียนในภูมิภาคเอเชีย 7 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ริเริ่มโดยเจแปนฟาวน์เดชั่น ในปี 2564 โดยได้นำเสนอเหตุการณ์ช่วงวิกฤตโควิด-19 ระลอกที่ 5 ในฤดูร้อนปี 2564 ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นและเศรษฐกิจที่ถดถอยลงกลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความวิตกกังวลและความไม่พึงพอใจในสาธารณชน ผ่านงานเขียนของนักเขียนรุ่นกลางและรุ่นใหม่จาก 7 ประเทศ (27 ผลงานที่มีการเขียนออกมาในหลากหลายภาษา) โดยตัวแทนนักเขียนจากประเทศไทย 3 ท่านคือ  คุณจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท คุณชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ และคุณจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญอีก 2 ท่าน ได้เผยแพร่ผลงานบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย  ตลอดจนทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฎการณ์ของการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคมของคนรุ่นใหม่ สถานภาพของงานวรรณกรรม สื่อสิ่งพิมพ์และการอ่านในประเทศไทย ในสไตล์การเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคน 3 เรื่องสั้น 3 สไตล์จากนักเขียนรุ่นใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยม

สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถเข้าไปอ่านบทความต่างๆได้ที่ลิ้งค์ข้างล่างนี้
https://asiawa.jpf.go.jp/en/culture/projects/p-yomu-thailand/

© หนังสือ “ไม่เชื่องแล้วไปไหน” ฉบับแปลภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์อีกา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ
ชั้น 10 อาคารเสริมมิตร ทาวเวอร์ 159 ถนนสุขุมวิท 21 กรุงเทพฯ 10110
Tel: 02-260-8560-3
Facebook: www.facebook.com/jfbangkok/
Website: https://ba.jpf.go.jp/
อีเมล์ info_jfbkk@jpf.go.jp

จัดโดย
เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ร่วมกับ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และสำนักพิมพ์อีกา

สนับสนุนโดย
สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย  สมาคมญี่ปุ่นในประเทศไทย และร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ (ประเทศไทย)