สัมมนาการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นระดับมัธยมศึกษา ทักษะชีวิตเพื่อก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21 – สมรรถนะที่ต้องเสริมสร้างให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษา –

สัมมนาการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นระดับมัธยมศึกษา
ทักษะชีวิตเพื่อก้าวทันโลกในศตวรรษที่ 21
– สมรรถนะที่ต้องเสริมสร้างให้แก่นักเรียนมัธยมศึกษา  –

ผู้จัด:เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ, Kamenori Foundation
วันเวลา:วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 9:00 -16:00 น.
สถานที่:โรงแรมแรมแบรนดท์ สุขุมวิท (สุขุมวิท 18 กรุงเทพฯ)
ผู้เข้าร่วมสัมมนา:ครูผู้สอนภาษาญี่ปุ่นระดับมัธยมศึกษา จำนวน 100 คน
※ครูผู้สอนชาวญี่ปุ่นสามารถสมัครได้ ทั้งนี้ สงวนสิทธิ์พิจารณาครูผู้สอนชาวไทยก่อน
ค่าอาหารกลางวัน:100 บาท
ภาษาที่ใช้:ช่วงที่ 1 และสรุปการสัมมนา (ภาษาญี่ปุ่น ※มีแปลสรุปเป็นภาษาไทย)
ช่วงที่ 2  (ภาษาไทย ※ไม่มีแปล มีเอกสารประกอบภาษาญี่ปุ่น)
หมดเขตรับสมัคร:วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 (16:00 น.)
สมัครทางออนไลน์ได้ที่ : https://forms.gle/kuM5avtebq5PhRft7
※แจ้งผลการสมัครทางอีเมลภายในวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567

กำหนดการ

8:30 – 9:00ลงทะเบียน
9:00 – 9:20พิธีเปิด
9:20 – 12:00ช่วงที่ 1 ปาฐกถาพิเศษ
โดย ศาสตราจารย์ TOHSAKU Yasuhiko  มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก
12:00 – 13:00พัก
13:00 – 15:00ช่วงที่ 2  การเสวนา
โดย ครูระดับมัธยมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครูผู้นำการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่น
1. อาจารย์หทัยกาญจน์    รักสัจจา   โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี
2. อาจารย์ลัดดา    สร้อยจาตุรนต์     โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม
3. อาจารย์พรลภัส    อ่ำหงษ์                 โรงเรียนปัว
4. อาจารย์ธีรัช    ลอมศรี                       โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
15:00 – 16.00สรุปการสัมมนา
โดย ศาสตราจารย์ TOHSAKU Yasuhiko

ปาฐกถาพิเศษ
โดย ศาสตราจารย์ TOHSAKU Yasuhiko  มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก

ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก  มีความชำนาญด้านทฤษฎีการเรียนรู้ภาษาและวิธีการสอนภาษาต่างประเทศ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการศึกษามากมาย เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาญี่ปุ่นในคณะกรรมการบริหารของ The National Standards ประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานกรรมการท่านแรกของคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตร AP Japanese Language and Culture  นอกจากนี้ ยังมีผลงานการเขียนมากมาย เช่น ตำราเรียนภาษาญี่ปุ่น『ようこそ!』『ドラえもんのどこでも日本語』『NIPPON3.0の処方箋』 และเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนภาษา ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ฯลฯ ให้กับสถาบันต่างๆ ทั่วโลก

“…     พวกเราในฐานะครูมีสิ่งสำคัญมากมายที่ต้องคำนึงถึง ไม่ว่าจะเป็นการสะท้อนผลการทำงานในแต่ละวัน การออกแบบการจัดการเรียนรู้ ของตนเอง การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน โอกาสในการเรียนรู้ รวมถึงการเล็งเห็นผลจากสิ่งเหล่านั้น แต่ด้วยภาระงานมากมาย เราจึงหมดเวลาไปกับการจัดการเรียนรู้ เวลาที่จะได้มาย้อนคิดทบทวนการสอนของตนเองก็หายไป หากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป การที่เราจะได้พัฒนาตนเอง และเติบโตในสายงานครูก็จะหยุดชะงักอยู่กับที่
  ในช่วงที่พอมีเวลาว่างจากภาระงาน แล้วมาเข้าร่วมสัมมนา เราจะได้โอกาสในการเรียนรู้เพิ่มพูนสมรรถนะในวิชาชีพครู    ได้พบปะสร้างความสัมพันธ์กับครูท่านอื่น และได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ     สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในสัมมนาจะช่วยให้เราได้สะท้อนคิดว่า เราได้ยึดติดกับสิ่งที่เชื่อมาตลอดหรือไม่ว่าที่ผ่านมาเราทำได้ดีแล้ว และช่วยให้เราได้คิดว่ายังมีสิ่งใหม่ๆอะไรไหมที่เราสามารถลงมือทำได้
  ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสัมมนาในครั้งนี้ ก็จะเป็นโอกาสอันดีที่ทุกท่านจะได้คิดทบทวนถึงการจัดการเรียนรู้ของตนเอง การปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ของนักเรียน รวมถึงได้ทะยานเข้าสู่ไอเดียใหม่ๆ ที่กระตุ้นให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการเรียนรู้สูงขึ้น     …”

ผู้ร่วมเสวนา

อาจารย์หทัยกาญจน์ รักสัจจา   โรงเรียนอุตรดิตถ์ดรุณี
“… ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 มีความรู้เพียงอย่างเดียวไม่พอ เราจึงต้องจัดการเรียนรู้โดยบูรณาการความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะเพื่อให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในการใช้ชีวิต การทำงาน และการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่หลากหลาย จนเกิดเป็นสมรรถนะในตัวผู้เรียน …”

อาจารย์ลัดดา สร้อยจาตุรนต์    โรงเรียนพิจิตรพิทยาคม
“… การเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง  เรียนรู้ผ่านการเล่น การลงมือทำตามความถนัดและความชอบ  เมื่อผู้เรียนต้องอยู่ในสถานการณ์อื่น เขาจะสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงนั้นมาใช้กับสถานการณ์นั้นได้ …”

อาจารย์พรลภัส อ่ำหงษ์   โรงเรียนปัว
“… การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะผู้เรียน เป็นการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน มุ่งเน้นให้ผู้เรียนประยุกต์ใช้ความรู้  ทักษะ และคุณลักษณะต่างๆ  เป็นการเรียนเพื่อใช้ประโยชน์  ไม่ใช่การเรียนเพื่อรู้เท่านั้น …”

อาจารย์ธีรัช ลอมศรี  โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
“… เพื่อให้นักเรียนพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูผู้สอนต้องการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีทั้งองค์ความรู้และการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจนเกิดเป็นสมรรถนะที่ติดตัวผู้เรียน ซึ่งจะจำเป็นในการทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคต …”