บันทึกจาก TPAM 2014 (Notes from TPAM 2014)
วัน:เดือนกุมภาพันธ์ 2557
สถานที่:โยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น
ผู้เขียน: ปิยะวัฒน์ ธรรมกุลางกูร ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำ ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดูแลโครงการต่างๆ ในฐานะ Theatre project manager / producer
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติจากเจแปนฟาวน์เดชั่นให้เดินทางไปร่วมงาน TPAM 2014 ที่เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น หลายท่านอาจจะสงสัยว่า TPAM (อ่านว่า “ทีแปม”) คืออะไร TPAM เป็นเวทีแลกเปลี่ยนทางด้านศิลปการแสดง ระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเป็นวาระให้ศิลปินมืออาชีพสาขาศิลปการแสดง แขนงต่างๆ และผู้จัดงาน (Presenter) จากนานาชาติ ได้มาพบปะสังสรรค์ เรียนรู้แลกเปลี่ยนทรรศนะ รวมถึงสร้างเครือข่ายวิชาชีพร่วมกัน ผ่านโปรแกรมกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ถูกจัดขึ้นตลอด 9 วันจัดงาน ไม่ว่าจะเป็นการแสดง, การเสวนาหลังการแสดง และการประชุมต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในวงการศิลปะการแสดง และผู้สนใจทั่วไปสามารถซื้อบัตรเข้าชมการแสดง และลงทะเบียนเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ได้
TPAM ถูกริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2538 (1995) ภายใต้ชื่องานว่า “Tokyo Performing Arts Market (TPAM)” และจัดขึ้นที่กรุงโตเกียวเรื่อยมา จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2554 (2011) ได้ย้ายมาจัดที่เมืองโยโกฮาม่าแทน พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่องานจากคำว่า “Market” เป็น “Meeting” และใช้ชื่องานใหม่นี้ว่า “Performing Arts Meeting in Yokohama” ซึ่งได้จัดการแสดง และกิจกรรมต่างๆ ในโรงละคร หรือสถานที่ต่างๆ ในเขตเมืองโยโกฮาม่า ที่สามารถเดินถึงกันได้
สำหรับโปรแกรมการจัดงาน สามารถแบ่งได้เป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
สำหรับโปรแกรมส่วนที่ผมให้ความสนใจเป็นพิเศษ จะเป็นในส่วนของกิจกรรม TPAM Exchange ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Networking Program ที่มีประโยชน์มากสำหรับทั้งศิลปิน และผู้จัดงานจากนานาชาติ ผมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัด Group Meeting (มีทั้งแบบคุยโต๊ะกลม) เป็นเวลา 30 นาที (รวม 2 ครั้ง) เพื่อแนะนำศูนย์ศิลปการละครสดใส พันธุมโกมล ให้ศิลปินชาวญี่ปุ่น และนานาชาติที่สนใจอยากจะนำผลงานมาจัดแสดงในประเทศไทย ได้ทราบข้อมูล และหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะร่วมงานกันในอนาคตอันใกล้ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากทั้งศิลปินชาวญี่ปุ่น และผู้จัดจากประเทศต่างๆ มาร่วมฟังและพูดคุยกันเป็นอย่างดี นอกจากนี้ผมเองก็ยังได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นๆ ที่จัดขึ้นหมุนเวียนกันไปตลอดวัน ทั้งแบบที่จัดขึ้นในห้องประชุม และแบบคุยโต๊ะกลม นอกจากนี้ อีกโซนหนึ่งที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น คือ Speed Networking เป็นโซนที่เปิดโอกาสให้ ศิลปิน และผู้จัดงานเทศกาล ได้มีเวลาพูดคุย หารือกันแบบตัวต่อตัว ภายใน 10 นาที โดยต้องมีการจองเวลาล่วงหน้า
โดยภาพรวมการจัดงาน ส่วนตัวผมประทับใจในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่มีเสน่ห์โดดเด่นแบบญี่ปุ่น ความพร้อมของสถานที่จัดงานในทุกๆ แห่ง ความเป็นมืออาชีพ และสุภาพอ่อนโยนของทีมงานผู้จัดงานครั้งนี้ทุกท่าน แม้ว่าในบางการประชุมอาจจะมีอุปสรรคทางภาษาบ้าง ซึ่งทางผู้จัดเองก็พยายามจัดเตรียมล่ามมืออาชีพ ในกิจกรรมไฮไลท์ นอกจากนี้ ผมเห็นความพยายาม และความร่วมมือกันของหลายๆ หน่วยงานในประเทศญี่ปุ่น ที่ทำให้เกิดการจัดงานนี้ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเจแปนฟาวน์เดชั่น(Japan Foundation), Yokohama Arts Foundation, Kanagawa Arts Foundation, PARC: Japan Center-Pacific Basin Arts Communication และจากอีกหลายองค์กร ผมได้เห็นการหยิบยื่นโอกาสให้กับศิลปิน ผู้กำกับรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงพลังความคิดสร้างสรรค์ และทรรศนะการมองโลกที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ผ่านผลงานศิลปะการแสดงที่หลากหลาย และน่าสนใจมาก เห็นความจริงใจในการสะท้อนปัญหาในหลายๆประเด็น และความเข้มแข็งของการรวมตัวเป็นเครือข่ายผู้ที่อยู่ในวิชาชีพศิลปะการแสดงที่จะใช้วาระนี้เพื่อระดมสมองหาทางออกร่วมกัน เห็นความกระตือรือร้นของทุกฝ่ายที่จะผลักดันให้เกิดการปะทะสังสรรค์ทั้งระหว่างศิลปินด้วยกันเอง และกับผู้จัดงานเทศกาลจากนานาชาติ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่นำไปสู่การต่อยอดความร่วมมือในอนาคต งานนี้พูดได้อย่างเดียวว่าเป็นประสบการณ์ที่ประเมินค่าไม่ได้จริงๆครับ สำหรับผู้ที่สนใจงาน TPAM นี้ในปีต่อๆไป สามารถติดตามข่าวได้ที่เวบไซต์ www.tpam.or.jp หรือจากเวบไซต์ของเจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ https://ba.jpf.go.jp |