ฉบับที่ 28 สิงหาคม 2545
สอนภาษาอย่างเดียวเพียงพอหรือไม่
Ms.Keiko KUSHIDA
อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ครูสอนภาษาญี่ปุ่นจะสอนเพียงภาษาอย่างเดียว จะเพียงพอหรือไม่ และผู้ที่เรียนภาษาญี่ปุ่นทั้งหลาย หากท่านต้องทำธุรกิจกับคนญี่ปุ่นหรือทำงานร่วมกับคนญี่ปุ่น สิ่งที่จำเป็นสำหรับการที่จะคบค้ากับคนญี่ปุ่นให้ได้ราบรื่นนั้นแค่มีความสามารถในเรื่องภาษาอย่างเดียวจะเพียงพอแล้วหรือ
การปฏิบัติตนให้เข้ากับวัฒนธรรมและสังคมของมนุษย์มีโครงสร้างดังนี้
คำว่า การปฏิบัติจริง ในที่นี้เป็นคำที่ไม่ค่อยคุ้นเคย การปฏิบัติจริงจะหมายถึงการกระทำทุกอย่างของมนุษย์นอกเหนือจากการสื่อสารทางภาษา ในกรณีที่เกิดปัญหาจากการแตกต่างทางวัฒนธรรม เรามักจะคิดกันว่าเกิดจากการสื่อสาร แต่ที่จริงแล้ว ต้นเหตุที่มาจากการปฏิบัติจริงก็มีเช่นกัน
ฉะนั้น ในบทความตอนที่ 1 และ 2 เราจะลองมาวิเคราะห์เรื่องปัญหาที่เกิดจากการต่างวัฒนธรรม โดยมีสาเหตุจากการสื่อสาร และสาเหตุจากการปฏิบัติจริง การสื่อสารนั้นแบ่งเป็นการสื่อสารทางภาษาและการสื่อสารที่นอกเหนือจากภาษา
ตัวอย่าง ต่อไปนี้จะเป็นปัญหาที่เกิดจากภาษาซึ่งทำให้เกิดการเข้าใจผิด
ก. ไวยากรณ์ผิด เลยทำให้เข้าใจผิด
ข. ใช้คำศัพท์ผิด ทำให้เข้าใจผิด
ค. ออกเสียงไม่ถูก เลยสื่อสารไม่ได้
ปัญหาต่างๆ ดังกล่าวนี้จะแก้ไขได้ด้วยการพัฒนาความสามารถในด้านภาษา ซึ่งคิดว่าได้มีการจัดการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาในสถาบันการศึกษาภาษาญี่ปุ่นในประเทศไทยอยู่แล้ว
ตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้น ในกรณีที่นอกเหนือจากภาษา
ก. การใช้ภาษาให้เหมาะสมกับกาลเทศะ
ข. วิธีการสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด
ค. วิธีการส่งข่าวสาร
คนไทยไปเที่ยวแล้วซื้อขนมไทยมาฝากคนญี่ปุ่น พอไปที่ห้องคนญี่ปุ่นปรากฏว่าคนญี่ปุ่นไม่อยู่ ก็เลยวางขนมไว้บนโต๊ะ พอคนญี่ปุ่นกลับมาที่ห้อง เนื่องจากไม่มีโน๊ตเขียนไว้ เลยไม่รู้ว่าใครเอาขนมมาวาง คนญี่ปุ่นก็คิดว่าใครหนอให้มา ถามคนรอบข้างก็ไม่มีใครรู้ เขาไม่กล้าทานทันที รับไว้อย่างนั้นพักหนึ่ง แม้ว่าเวลาจะผ่านไปก็ยังไม่รู้ว่าใครให้ก็เลยทานขนมซะเลย อยากจะขอบคุณคนให้ก็ไม่รู้จะไปขอบคุณใคร รู้สึกแปลก และแอบรำพึงอยู่ในใจว่า “น่าจะฝากโน๊ตไว้ซะหน่อยก็จะดีนะ”
สุดท้าย อยากจะยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติจริงสักหนึ่งตัวอย่าง
คนญี่ปุ่นได้รับเชิญไปงานเลี้ยงแต่งงานของคนไทย คนญี่ปุ่นเลือกชุดที่ชอบเป็นผ้าไหมไทยสีม่วงใส่ไปในงาน
(สีม่วงคนไทยถือเป็นสีแม่ม่ายไม่ใช้ในงานแต่งงาน) คนญี่ปุ่นมีความรู้สึกว่าไม่รู้ว่างานเลี้ยงเริ่มตอนไหน แล้วก็ไม่รู้ว่าเลิกตอนไหน มีความรู้สึกว่าไม่มีบรรยากาศที่เคร่งครัดและดูศักดิ์สิทธิ์สำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในความรู้สึกของคนญี่ปุ่นแล้ว ดูมันจะขาดอะไรไป ที่ญี่ปุ่นงานเลี้ยงจะเริ่มกันจากคำกล่าวเริ่มงาน และเมื่องานเลี้ยงเลิก หลังจากคำกล่าวเลิกงานแล้ว แขกทุกคนจะกลับพร้อมกันหมด แต่ที่เมืองไทย แขกมาถึงก็เริ่มดื่ม ก่อนจะมีคำกล่าวเริ่มงาน และก็มีแขกทยอยกลับอาจจะไม่กลับพร้อมๆ กัน
ผู้เรียนชาวไทยที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ใช้ภาษาญี่ปุ่น นอกจากในห้องเรียน การที่จะได้เห็นคนญี่ปุ่นคุยกันโดยตรงหรือการที่จะมีโอกาสได้ประสบการณ์ในการพูดคุยกับคนญี่ปุ่นน้อยมาก หากไม่มีการให้ความรู้ที่เพียงพอในสถาบันที่สอนภาษาญี่ปุ่นในเรื่องที่เกี่ยวกับการสื่อสารที่นอกเหนือจากภาษาและการปฏิบัติจริงแล้ว ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นก็จะไม่สามารถที่จะปฏิบัติตัวให้เหมาะสมกับสังคมและวัฒนธรรมของญี่ปุ่นได้
นอกจากนี้ในกรณีที่แม้ว่าจะเป็นผู้ที่รู้ภาษาญี่ปุ่นดีมาก หากแต่ไม่เป็นที่ยอมรับของคนญี่ปุ่นในเรื่องการสื่อสารที่นอกเหนือจากภาษาและการปฏิบัติจริง (ซึ่งไม่เป็นปัญหาสำหรับในประเทศของผู้เรียน) ซึ่งทำให้คนญี่ปุ่นเข้าใจผิด หรือทำให้คนญี่ปุ่นโกรธ หรือทำให้คนญี่ปุ่นงง อันจะเป็นจุดอันตรายที่ทำให้คนญี่ปุ่นประเมินชาวต่างชาติต่ำจากที่เป็นจริงแล้วละก็เพื่อมิให้เกิดสิ่งเหล่านี้ น่าจะเป็นหน้าที่ของครูสอนภาษาญี่ปุ่นในอันที่จะสอนให้ผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นได้รู้ถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง ที่เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างเพียงพอ